โรคภัยไข้เจ็บสำหรับผู้สูงอายุ นอกจากโรคประจำตัวทั่วๆ ไป อย่าง เบาหวาน ความดันโลหิตสูงแล้ว ภาวะปอดติดเชื้อหรือปอดอักเสบ ยังเป็นภัยใกล้ตัวที่มักเกิดขึ้น โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนฤดู หากไม่มีการป้องกันหรือรักษาอย่างถูกวิธีอาจร้ายแรงถึงขั้นติดเชื้อในการะแสเลือด เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตในที่สุด
โรคปอดอักเสบ หรือ ปอดติดเชื้อ คืออะไร
โรคปอดอักเสบ หรือ ปอดติดเชื้อ เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ อาจติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ซึ่งมักเรียกง่ายๆ ว่า “ปอดบวม”
ระยะฟักตัวของโรคปอดอักเสบ
ขึ้นอยู่กับเชื้อก่อโรค อาจใช้เวลา 1-3 วัน ผู้สูงอายุมักมีอาการเริ่มต้นคล้ายไข้หวัด ไข้สูง ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ อาการอาจรุนแรงขึ้นเมื่อเริ่มเจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ หากเป็นนานกว่า 2-3 วัน โดยไข้ไม่ลด ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา
ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เมื่อปีพ.ศ. 2561 พบว่ามีผู้ป่วยโรคปอดอักเสบมากถึง 131,247 ราย เสียชีวิต 96 ราย โดยกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป ถือเป็นกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด
สาเหตุของโรคปอดอักเสบในผู้สูงอายุ
โรคปอดอักเสบในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เกิดจากการได้รับเชื้อผ่านระบบทางเดินหายใจ ทำให้ปอดเกิดการอักเสบ ส่งผลให้ไม่สามารถแลกเปลี่ยนอากาศได้ตามปกติ
มักพบเป็นอาการที่ต่อเนื่องมาจากโรคไข้หวัดใหญ่ การติดเชื้อปอดอักเสบสามารถพบได้ทุกช่วงอายุ โดยระดับความรุนแรงของโรคจะมีความแตกต่างกัน ผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 65 ปี มีความต้านทานโรคต่ำ จึงมีความเสี่ยงเกิดความรุนแรงของโรคถึงขั้นเสียชีวิตมากที่สุด
อาการของโรคปอดอักเสบ หรือ ปอดติดเชื้อ อาการเป็นอย่างไร
ภาวะปอดอักเสบจากการติดเชื้อแต่ละชนิด ส่งผลให้ระยะเกิดโรคแตกต่างกัน เชื้อบางชนิดอาจเกิดภายในเวลาสั้นๆเพียง 1-3 วัน หรือบางชนิดอาจใช้เวลาฟักตัวนานเป็นสัปดาห์ ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดหลังจากเริ่มป่วยเป็นไข้หวัด
หากพบว่าผู้ป่วย
มีไข้สูง
อ่อนเพลีย
ไอ
มีเสมหะร่วมกับอาการคลื่นไส้
อาเจียน
หายใจลำบาก
เจ็บแน่นหน้าอก
โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยสูงอายุเริ่มมีอาการสับสนหรือซึมลง ทั้งๆ ที่ไข้ลดลง ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน เนื่องจากอาจมีการติดเชื้อในปอด
การวินิจฉัยและรักษาโรคปอดอักเสบ
แพทย์วินิจฉัยจากอาการและการตรวจร่างกาย โดยเริ่มต้นจากการซักประวัติ ตรวจชีพจร ตรวจออกซิเจนในเลือด และการหายใจ เนื่องจากปอดอักเสบจะมีการหายใจเร็วกว่าปกติ จากนั้นจึงส่งตรวจเอกซเรย์เพิ่มเติม เพื่อดูความผิดปกติในปอด ทั้งนี้อาจมีการเจาะเลือดร่วมด้วย
โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถรักษาได้ด้วยยาฆ่าเชื้อทั้งแบบรับประทานและการฉีดยา ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน สำหรับปอดที่ติดเชื้อไวรัสมักมีความรุนแรงน้อยกว่าการติดเชื้อแบคทีเรีย การรักษาจึงพิจารณาตามอาการ โดยผู้ป่วยดูแลตัวเองให้แข็งแรงด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำให้เพียงพอ และพักผ่อนอย่างพอเหมาะ หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวแพทย์อาจพิจารณาให้พักรักษาตัวในโรงพยาบาลจนกว่าจะหายสนิท เพื่อช่วยฟื้นฟูสุขภาพให้แข็งแรง พร้อมกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ รวมถึงป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงวัย
โรคแทรกซ้อนจากปอดอักเสบในผู้สูงอายุ
สำหรับผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคประจำตัว อาจติดเชื้อที่รุนแรงมากกว่าคนปกติ ดังนั้นหากพบว่าคนในครอบครัวเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรแยกผู้สูงอายุให้ปลอดภัย เนื่องจากอาจติดเชื้อไวรัสกระทั่งเป็นปอดอักเสบได้
นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังมีภูมิต้านทานต่ำจากความเสื่อมสภาพทั่วไปของร่างกาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไตวาย หัวใจ ไขมันพอกตับ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนจากปอดอักเสบ เช่น ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว หรือที่อันตรายที่สุด คือการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
การป้องกันปอดอักเสบในผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ใช้ช้อนกลาง หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและไขมันสูง ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู่ป่วยโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่
ไม่สัมผัสกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
ลดการออกไปในสถานที่แออัดในช่วงที่มีไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ระบาด
ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี เนื่องจากเชื้อโรคมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ประสิทธิภาพของวัคซีนสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ประมาณ 70-80% ควรฉีดก่อนหน้าฝนราวเดือนพฤษภาคม–มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงที่ไข้หวัดใหญ่ระบาด
ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบส่วนใหญ่ คือ เชื้อเสตรปโตคอคคัส นิวโมนิเอ (Streptococcus pneumoniae) หรือเรียกสั้นๆ ว่า เชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งมีมากกว่า 90 สายพันธุ์ เป็นสาเหตุให้เกิดโรคติดเชื้อรุนแรงอื่นๆ อาทิ ภาวะติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง และติดเชื้อในกระแสเลือด โดยในปัจจุบันทางการแพทย์ได้พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโม
คอคคัสที่ใช้อย่างมีประสิทธิภาพในผู้สูงอายุ 2 ชนิด คือ
วัคซีนนิวโมคอคคัสแบบคอนจูเกต (Conjugated) สามารถ ป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัสได้ 13 สายพันธุ์
วัคซีนนิวโมคอคคัสแบบโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharide ) หรือ PPSV23 ครอบคลุมเชื้อได้ 23 สายพันธุ์
ทั้งนี้ผู้สูงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไป ควรฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิดร่วมกัน โดยในผู้สูงอายุที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบมาก่อน ควรฉีด PCV13 หนึ่งเข็มก่อน จากนั้นอีก 12 เดือนค่อยฉีด PPSV23 สำหรับผู้ที่เคยฉีดวัคซีน PPSV23 มาก่อนแล้ว สามารถฉีด PCV13 ตามภายหลังได้โดยต้องฉีดห่างกันอย่างน้อยหนึ่งปี
นอกจากนี้ยังพบว่าวัคซีนสามารถครอบคลุมสายพันธุ์ของเชื้อที่ก่อ โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสรุนแรงในประเทศ ไทยได้ประมาณ 70-78 % ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงปอดติดเชื้อรุนแรงจนอาจเสียชีวิตได้ จึงควรฉีดวัคซีนนิวโมคอคคัสเช่นเดียวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
โรคปอดอักเสบ หรือ ปอดติดเชื้อ คืออะไร อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions/151