ความดันโลหิตสูงเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สำคัญทางสาธารณสุขที่ควรได้รับการเอาใจใส่ดูแล เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองและโรคไตวายระยะสุดท้าย พื้นฐานการดูแลสุขภาพที่สำคัญสำหรับการควบคุมความดันโลหิตสูง ได้แก่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพของตนเองและการรักษาโดยการรับประทานยา การดูแลสุขภาพดังกล่าวจะทำให้ผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงมีสุขภาพที่ดีและสามารถอยู่ได้อย่างเป็นปกติสุข
ความหมายของความดันโลหิต
“ความดันโลหิต” เป็นแรงดันที่ผลักต้านภายในหลอดเลือดในระบบไหลเวียนโลหิต มีค่าตัวเลข 2 ค่า ได้แก่
- ความดันโลหิตซีสโตลิก เป็นค่าความดันขณะที่หัวใจบีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
- ความดันโลหิตไดแอสโตลิก เป็นค่าความดันขณะหัวใจคลายตัว
ดังนั้นการรายงานผลความดันโลหิตจึงประกอบด้วยตัวเลข 2 ตัวเสมอ เช่น วัดความดันโลหิตได้ 120/80 มิลลิเมตรปรอท
ความหมายของค่าความดันโลหิตแต่ละระดับ
ความดันโลหิตซีสโตลิก (มิลลิเมตรปรอท)
น้อยกว่า 120 ความดันโลหิตปกติ
120-139 ระดับก่อนการเป็นความดันโลหิตสูง
140 ขึ้นไป ความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิตไดแอสโตลิก (มิลลิเมตรปรอท)
น้อยกว่า 80 ความดันโลหิตปกติ
80-89 ระดับก่อนการเป็นความดันโลหิตสูง
90 ขึ้นไป ความดันโลหิตสูง
อย่างไรก็ตามจากการแนวปฏิบัติสำหรับการป้องกัน การค้นหา การประเมินและการจัดการของระดับความดันโลหิตสูงในผู้ใหญ่ ปี ค.ศ.2017 ได้มีการปรับเปลี่ยนจุดตัดของการวินิจฉัยภาวะความดันโลหิตสูง โดยใช้จุดตัด 130/80 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากแนวปฏิบัติดังกล่าว
ดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/