ระบบไฟฟ้าถือเป็นระบบพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการอยู่อาศัย แต่ในหลาย ๆ ครั้งกลับถูกมองข้าม โดยเฉพาะตอนตรวจรับบ้านหรือคอนโดก่อนโอนกรรมสิทธิ์ ทำให้เจ้าของบ้านต้องมาเสียเวลานั่งซ่อม มาแก้ไขปัญหาทีหลัง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเจ้าของบ้านเจ้าของคอนโดทุกคนสามารถตรวจเช็คระบบไฟฟ้าเบื้องต้นด้วยตนเองได้ง่าย ๆ ว่าแต่ทำอย่างไรบ้าง?
วิธีตรวจระบบไฟฟ้าด้วยตนเอง ฉบับทำตามได้ง่าย ๆ
การตรวจเช็คระบบไฟฟ้านั้นไม่ได้มีเพียงแค่การทดสอบหลอดไฟภายในบ้านเท่านั้น แต่ยังต้องเช็คในเรื่องของระบบสายไฟ เรื่องความปลอดภัย และอื่นๆ อีกด้วย สามารถทำตามขั้นตอนดังนี้
ตรวจระบบไฟฟ้าขั้นเบื้องต้น
การตรวจระบบไฟฟ้าในบ้านขั้นแรกเลยก็คือ เปิด-ปิด ไฟทุกดวงทั้งในและนอกบ้าน ตรวจเช็คว่ามีแสงสว่างครบทุกจุดหรือไม่ หรือมีการชำรุดหรือใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพในจุดไหนบ้าง หากมีสวิตช์ 2 ทาง ควรตรวจเช็คเปิด-ปิดสวิตช์ทุกจุดที่มีการติดตั้ง
ตรวจเต้ารับว่ามีไฟรั่วหรือไม่
เต้ารับเป็นบริเวณที่อาจเกิดไฟรั่วได้ หากติดตั้งมาไม่ถูกวิธี หรือมีข้อผิดพลาดระหว่างการติดตั้ง ดังนั้นเราต้องทำการตรวจระบบไฟฟ้าว่ามีไฟรั่วและรองรับเต้าเสียบได้ดีเป็นปกติหรือไม่ โดยสามารถใช้ไขควงเช็คกระแสไฟรั่วได้ แนะนำว่าควรเช็คทุกเต้ารับที่มีในบ้านหากตำแหน่งใดที่ไม่มีไฟเข้าจะได้การซ่อมแซมอย่างทันที
ตรวจระบบไฟฟ้าในการเดินสายไฟ
อีกหนึ่งในความปลอดภัยที่ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรได้คือ ‘การตรวจการเดินสายไฟ’ โดยให้เปิดช่องเซอร์วิสขึ้นไปดูที่ใต้หลังคาหรือใต้ฝ้า โดยดูว่ามีการทำท่อร้อยสายไฟหรือไม่ เพราะท่อร้อยสายไฟที่ใช้หุ้มสายไฟฟ้าจะต้องร้อยสายไฟให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และสายไฟดูแล้วต้องมีสภาพสมบูรณ์ เพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร
ตรวจการทำงานของมิเตอร์ไฟฟ้า
มิเตอร์ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้วัดหน่วยการใช้ไฟฟ้าในบ้าน ดังนั้นควรตรวจสอบให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มตรวจระบบไฟฟ้าจากการตัดไฟทั้งบ้าน เพื่อดูว่าเมื่อตัดไฟแล้วมิเตอร์ยังหมุนอยู่หรือไม่ หากตัดไฟแล้วมิเตอร์หยุดหมุน หมายความว่า มิเตอร์ใช้งานได้ปกติ แต่หากตัดไฟแล้วมิเตอร์ยังหมุนอยู่แสดงว่ามีไฟรั่วเกิดขึ้น ก็จะต้องแจ้งให้ช่างช่วยหาจุดที่เกิดรั่วซ่อมแซมให้เป็นปกติเสียก่อน หากฝืนใช้งานต่อไปค่าไฟจะขึ้นสูงและเสี่ยงอันตรายกับผู้ใช้งานอีกด้วย
ตรวจระบบไฟฟ้าในตู้ควบคุมไฟฟ้า
‘ตู้ควบคุมไฟฟ้า’ เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่สำคัญในการควบคุมเปิด-ปิดการจ่ายไฟให้แต่ละส่วนในบ้าน จะต้องมีการระบุอย่างชัดเจนว่าเบรกเกอร์แต่ละตัวใช้ควบคุมไฟฟ้าส่วนไหน และเมื่อตัดไฟที่เบรกเกอร์ตัวนั้น ๆ แล้วต้องตัดไฟเฉพาะบริเวณที่ตั้งไว้เท่านั้น
อีกสิ่งสำคัญก็คือต้องมีเบรกเกอร์หลักที่คอยควบคุมเบรกเกอร์ตัวย่อย พร้อมเช็กสายไฟด้านหลังด้วย เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน โดยสายไฟจะต้องเก็บอย่างเป็นระเบียบ ห้ามมีสายไฟเปลือยเด็ดขาด
ตรวจเช็คว่ามีการติดตั้งสายดินหรือไม่
ทุกบ้านหรือคอนโดที่ใช้ไฟฟ้าหรือมีเครื่องใช้ไฟฟ้าหลากหลายชนิด อาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะเจอเหตุการณ์ไฟฟ้าลัดวงจร ไฟช็อต หรือไฟดูดได้ ดังนั้นการติดตั้งสายดิน ถือเป็นสิ่งสำคัญที่บ้านทุกหลังจะต้องติดตั้งเพื่อความปลอดภัย เพราะสายดินจะทำหน้าที่นำกระแสไฟฟ้าที่ไม่ต้องการไหลลงสู่ดิน แทนที่จะไหลเข้าตัวเรา
สำหรับการตรวจเช็คว่าที่บ้านมีการติดตั้งสายดินหรือไม่ ให้ทำการสังเกตที่ปลั๊กไฟหรือเต้ารับว่ามี 3 ขา หรือเปิดดูหลังปลั๊กว่ามีสายสีเขียวเส้นที่ 3 หรือไม่ รวมถึงตรวจสอบให้แน่ใจว่าการเดินสายดินต่อไปยังตู้ควบคุมไฟฟ้าต้องไปดูที่จุดฝังหลักดินว่ามีวงจรสายดินที่สมบูรณ์ตามมาตรฐานถูกต้อง หากเราตรวจระบบไฟฟ้าในบ้านให้ดีมีการติดตั้งสายดิน ก็จะเกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน และสามารถป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้
ทดสอบเครื่องปรับอากาศ
หากผู้ขายให้เครื่องปรับอากาศมาด้วยก็อย่าลืมตรวจเช็คให้ดี เพราะเป็นอีกหนึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญที่จำเป็นต้องตรวจสอบ ให้เปิดทดสอบการใช้งานว่าเครื่องปรับอากาศทำงานตามปกติดีหรือไม่ มีน้ำแอร์หยดหรือเปล่า หากมีอาการผิดปกติจะต้องแจ้งกับทางผู้ขายให้ดำเนินการซ่อมแซมทันที
สรุปส่งท้าย
เป็นอย่างไรกันบ้างกับทิปส์ในการตรวจเช็คระบบไฟในบ้านและคอนโดที่ได้แนะนำกันไป ขอแนะนำให้คนที่กำลังจะตรวจรับบ้าน อย่าลืมให้ความสำคัญในส่วนนี้ เพราะเป็นเรื่องของความปลอดภัยของทุกคนในบ้าน และนอกจากตรวจระบบไฟฟ้าแล้ว ยังมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ควรต้องตรวจสอบอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ระบบน้ำ , โครงสร้าง ผนัง และเพดาน , เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ
บริหารจัดการอาคาร:ตรวจเช็คระบบไฟฟ้าก่อนรับโอนบ้าน สิ่งสำคัญที่ห้ามลืม ทำได้ง่าย อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://snss.co.th/dt_post/technical-services/