อาการของ โรคหัวใจอาการของโรคหัวใจทั้ง 6 ชนิด ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ ย่อมแสดงแตกต่างกันไปตามแต่ละประเภทของโรค ดังนี้
อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตันจะทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้เพียงพอ ผู้ป่วยส่วนมากมีอาการแน่นหรือเจ็บหน้าอกซึ่งมักจะคงอยู่นานเป็นนาทีขึ้นไป อาจมีอาการเจ็บร้าวไปถึงไหล่ กราม แขน หลัง หรือบริเวณท้องเหนือสะดือขึ้นไป และในบางรายอาจมีอาการเหงื่อแตก ใจสั่น หน้ามืด หรือหมดสติร่วมด้วยได้ โดยอาการของโรคสามารถแบ่งย่อยเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้คือ
กลุ่มที่เส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักจะมีอาการดังกล่าวข้างต้นขึ้นมาทันที โดยอาจไม่มีอาการผิดปกตินำมาก่อน
กลุ่มที่มีเส้นเลือดหัวใจตีบเรื้อรัง มักมีอาการแน่นหน้าอกหรือเหนื่อยง่ายเวลาออกแรงหนัก ๆ แต่เมื่อนั่งพักหรืออมยาใต้ลิ้นแล้วอาการจึงดีขึ้น
ทั้งนี้อาการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจในเพศชายและเพศหญิงอาจมีความแตกต่างกัน เช่น เพศชายอาจมีโอกาสที่จะเกิดอาการเจ็บหน้าอกได้มากกว่า ส่วนอาการที่มักเกิดกับผู้หญิง ได้แก่ หายใจหอบเหนื่อย คลื่นไส้ และอ่อนล้าอย่างมาก
โรคหลอดเลือดหัวใจอาจวินิจฉัยไม่พบหากเส้นเลือดหัวใจไม่ได้ตีบมาก ผู้ที่กังวลว่าตนอาจเสี่ยงเป็นโรคนี้จึงควรหมั่นสังเกตตนเองและพูดคุยปรึกษาแพทย์ให้บ่อยเมื่อมีอาการผิดปกติใด ๆ
อาการของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ จังหวะของหัวใจที่เต้นผิดปกติโดยอาจเต้นเร็วเกิน ช้าเกิน หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ สามารถทำให้มีอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามมา ผู้ที่มีอาการใด ๆ ต่อไปนี้บ่อยครั้ง หรือมีอาการขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
หัวใจสั่นรัว
หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
หัวใจเต้นช้าผิดปกติ
เจ็บหน้าอกหรือรู้สึกไม่ค่อยสบาย
หายใจเหนื่อยหอบ
เวียนศีรษะ มึนงง
เป็นลมหมดสติ หรือคล้ายจะเป็นลม
มีเหงื่อออก
อาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นภาวะความผิดปกติที่กล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง อาจมีทั้งกล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้นผิดปกติหรือกล้ามเนื้อหัวใจบางลง ซึ่งในระยะแรก ผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการ จนเมื่อรุนแรงขึ้นจึงมักตามมาด้วยอาการต่อไปนี้
รู้สึกหายใจไม่อิ่มเมื่อต้องออกแรง หรือแม้ขณะนั่งพัก
ขา เท้า หรือข้อเท้าบวม
เหนื่อยล้า
หัวใจเต้นผิดปกติ โดยเต้นเร็วหรือสั่นรัว
วิงเวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม
เจ็บหน้าอก
ท้องอืด
อาการเหนื่อยหรือไอเมื่อนอนราบ
อาการของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นภาวะบกพร่องที่มีมาแต่กำเนิด โดยอาจตรวจพบได้ตั้งแต่แรกคลอดหรือไม่นานหลังคลอด เด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดอาจแสดงอาการดังนี้
สีผิวเป็นสีเทาหรือเขียว
ขา ช่องท้อง หรือบริเวณรอบดวงตาบวม
ในเด็กทารกจะมีอาการหายใจเหนื่อยหอบหรือภาวะเขียวขณะดูดนม ส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นน้อย
ด้านโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่มีอาการรุนแรงไม่มากอาจไม่สามารถวินิจฉัยได้จนกว่าจะถึงช่วงวัยเด็กหรือวัยผู้ใหญ่ โดยสัญญาณอาการของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรงน้อยลงมาที่มักไม่ส่งผลอันตรายถึงชีวิตในทันทีทันใด ได้แก่ เหนื่อยหรือหายใจหอบง่ายหลังจากออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ เมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน และเมื่อเริ่มเป็นมากขึ้นอาจมีภาวะบวมที่บริเวณมือ เท้า รอบดวงตา หรือภาวะเขียวได้
อาการของโรคลิ้นหัวใจ ในหัวใจคนเรามีลิ้นปิดเปิดระหว่างแต่ละห้องเพื่อให้เลือดไหลผ่านหัวใจทั้งหมด 4 ลิ้น ลิ้นหัวใจทั้ง 4 นี้อาจได้รับความเสียหายจนทำให้ลิ้นหัวใจตีบลง ลิ้นหัวใจรั่ว หรือลิ้นหัวใจปิดได้ไม่ดี ซึ่งลิ้นหัวใจที่เกิดความผิดปกติแต่ละลิ้นอาจแสดงอาการแตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปมักทำให้มีอาการต่อไปนี้
อ่อนเพลีย
หายใจหอบเหนื่อย
หัวใจเต้นผิดจังหวะ
เจ็บหน้าอก
เป็นลมหมดสติ
เท้าหรือข้อเท้าบวม
อาการโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ โรคหัวใจชนิดนี้สามารถแบ่งได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เป็นการติดเชื้อที่ส่งผลต่อบริเวณรอบหัวใจ ชนิดต่อมาคือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบซึ่งจะมีผลต่อการบีบของหัวใจตามมา และสุดท้าย ลิ้นหัวใจอักเสบ เป็นการติดเชื้อบริเวณลิ้นหัวใจที่ทำให้การทำงานของลิ้นหัวใจผิดปกติไป
โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจทั้ง 3 ชนิดนี้มีอาการแตกต่างกันได้บ้างตามตำแหน่งที่มีการติดเชื้อ ซึ่งโดยรวมมักก่อให้เกิดอาการดังนี้
มีไข้ โดยส่วนใหญ่มักเป็นไข้เรื้อรัง
อ่อนเพลียหรือเหนื่อยล้า
หายใจหอบเหนื่อย
ไอแห้ง ๆ อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ
อาการบวมที่ขาหรือช่องท้อง
มีผื่นหรือจุดผิดปกติขึ้นบนผิวหนัง
โรคหัวใจชนิดใดก็ตาม หากตรวจพบในระยะแรก ๆ ก็จะทำให้การรักษาทำได้ง่ายขึ้น ผู้ที่มีความกังวลหรือมีความเสี่ยงทางพันธุกรรมจึงควรหมั่นปรึกษาแพทย์ เพื่อลดโอกาสของการเกิดโรคหัวใจ และหากมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย หรือเป็นลมหมดสติ ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคหัวใจ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน